พระพุทธศาสนาในประเทศจีน
中國佛教史
พระพุทธศาสนาเริ่มแผ่เข้าสู่ประเทศจีน ตอนปลายราชวงศ์จิว แต่เป็นเพียงกระเซ็นกระสายเล็กน้อย มาถึงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 7 พระเจ้าฮั่นเม่งเต้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ส่งราชทูตไปสืบพระศาสนา ณ ประเทศอินเดีย และได้นิมนต์พระภิกษุชาวอินเดีย 2 รูปคือ พระกาศยปมาตังคะ (เกียเฮียะม่อเท้ง) และ พระธรรมรักษ์ (เต็กฮวบลั้ง) มายังนครลกเอี๋ยงด้วย พระเจ้าฮั่นเม่งเต้ได้สร้างอารามขึ้น ณ นครลกเกี๋ยงนั้น พระราชทานนามว่า “วัดแปะเบ้ยี่” หรือ “วัดม้าขาว” หรือ “วัดจตุราทิศาราม” นับเป็นปฐมสังฆารามของจีน
ฝ่ายพระกาศยปมาตังคะ ได้ลงมือแปลถ่ายทอดพระพุทธวจนะออกเป็นภาษาจีนมี “พระสูตร 42 บท” พระธรรมรักษ์แปล “ทศภูมิสังโยชนภินทนสูตร” พระพุทธศาสนาในเวลานั้นยังไม่แพร่หลายเท่าไรนัก ตกกลางพุทธศตวรรษที่ 7 มีภิกษุชาวปาร์เธีย ชื่อ อันสิเกา จาริกมาแปลคัมภีร์ถึง 90 กว่าฉบับ ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ของฝ่ายสาวกยาน ครั้นตกยุคสามก๊ก พระธรรมกาล ชาวอินเดียจาริกมาประดิษฐานสีมาวินัยกรรมเป็นปฐม ที่นครลกเอี๋ยง พร้อมทั้งให้อุปสัมปทาแก่กุลบุตรและแปลวินัยปาติโมกข์ขึ้น เป็นการเปิดศักราชแห่งนิกายวินัย สงฆ์ชาวแคว้นคังกือ ชื่อ คังเจหวย ได้จาริกมาแพร่พระพุทธธรรมที่จีนได้ชนะใจซุนกวน เจ้าครองแคว้นหวูสำเร็จ พระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายไปทั่วจีนใต้ ตกถึงสมัยราชวงศ์ไชจิ้น พระพุทธศาสนาแพร่หลายทั่วไปในประชาสังคม ธรรมทูตจากเตอรกีสถานบ้าง จากอินเดียบ้าง ได้จาริกมาแพร่ธรรมอย่างไม่ขาดสาย พระพุทธวจนะต่าง ๆ ได้ถูกเร่งรัดให้แปลถ่ายออกมาสู่ภาษาจีนเรื่อย ๆ พระพุทธศาสนาแพร่หลายทั่วไปในประชาชน ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 9 สมณะจีนชื่อฮุ่ยเอี้ยง ได้ตั้งสำนักสุขาวดีขึ้นที่ภูเขาลูซัว มณฑลกังไส สมณะฮวนเฮี้ยน เริ่มตระเตรียมการจาริกไปสู่อินเดีย ต้นพุทธศตวรรษที่ 10 นักแปลคัมภีร์ชั้นเยี่ยม ชื่อ กุมารชีพ จาริกมาแปลปกรณ์ต่าง ๆ ของฝ่ายศูนยตวาทิน ปรัชญามาธยมิกเริ่มเจริญแพร่หลาย พร้อมกันนั้น ท่านกุมารชีพได้แปลคัมภีร์สัตยสิทธิศาสตร์ของฝ่ายสาวกยาน ให้กำเนิดนิกายสัตยสิทธิขึ้น ท่านทั่งม่อชั่น ได้แปลมหาปรินิรวาณสูตร ให้กำเนิดแก่นิกายนิรวาณ ตกกลางพุทธศตวรรษที่ 10 ท่านคุณภัทร แห่งอินเดียกลาง จาริกมาแปลพระสูตรสำคัญ ๆ เช่น ธรรมทุนทุภิศรีมาลาเทวีสูตร และลังกาวตารสูตร ต้นพุทธศตวรรษที่ 11 ท่านโพธิรุจิ แห่งอินเดียเหนือ จาริกมาแปลทศภูมิศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ อีก กับทั้งเป็นผู้ก่อกำเนิดนิกายภูมิศาสตร์ ต่อมาอีกไม่นาน ท่านโพธิธรรมแห่งอินเดียใต้ ก็ได้จาริกมาแพร่นิกายเซ็นหรือธฺยาน ท่านปรมัตถะแห่งอินเดียตะวันตก จาริกมาแปลคัมภีร์ฝ่ายปรัชญาโยคาจาร และปรัชญาภูตตถตาวาทิน ตั้งนิกายสัมปริครหศาสตร์ขึ้น ความคิดเรื่องจิตอมตะเริ่มแพร่หลายไปทั่วประเทศ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 11 ท่านคณาจารย์ตี้เจี้ย ได้ประกาศปรัชญานิกายเทียนไท้แพร่หลายครอบนิกายนิรวาณ ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านติปิฎกธราจารย์เฮี่ยงจัง ผู้ซึ่งเดินทางไปศึกษาพระพุทธธรรม ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา จาริกกลับมา ได้แปลคัมภีร์นับจำนวนถึง 1,347 ผูก 76 ฉบับ ออกสู่พากย์จีน มีทั้งคัมภีร์ฝ่ายศูนยตวาทินและโยคาจาร อัครสาวกของท่านชื่อกุยกี ได้ตั้งนิกายโยคาจารหรือนิกายธรรมลักษณ์ขึ้น ครอบนิกายสัมปริครหะ ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 สมณงี่เจ๋ง (อี้จิง) จาริกกลับจากอินเดีย เผยแผ่การประพฤติวินัยบัญญัติอย่างเคร่งครัด และวินัยปกรณ์ของนิกายต่าง ๆ มาก ต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ท่านคณาจารย์เฮี่ยงซิ้ง ตั้งนิกายอวตังสกะ ครอบนิกายภูมิศาสตร์ นิกายเซ็นในเวลานั้นได้แตกแยกออกเป็น 2 สายคือ ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ตกกลางพุทธศตวรรษที่ 13 ท่านศุภกรสิงหะ แห่งอินเดียตะวันตก ท่านวัชรโพธิ และท่านอโมฆแห่งอินเดียใต้ ได้จาริกมาแพร่ลัทธิรหัสยานมันตระ กลางพุทธศตวรรษที่ 14 นิกายเซ็นแยกออกเป็น 2 สาขา
ครั้นเข้ายุคพวกมองโกลปกครองประเทศจีน คือ ยุคราชวงศ์หงวน ลัทธิพุทธตันตรมนตรยานแบบทิเบต ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ ยกขึ้นเป็นศาสนาประจำสำนัก แต่หาได้แพร่หลายในสังคมประชาชนไม่ ครั้นเข้าสมัยราชวงศ์เม็ง พระพุทธศาสนานานานิกายเสื่อมทรามลงโดยลำดับ มีแต่นิกายเซ็นและนิกายสุขาวดีเท่านั้นที่ยังคงแพร่หลายอยู่ จนถึงสมัยราชวงศ์แมนจูปกครองจีน
ใน พ.ศ. 2455 ประเทศจีนได้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ ชื่อ ประเทศเป็นสาธารณรัฐจีน รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนในพระพุทธศาสนา แต่สนับสนุนแนวความคิดของสังคมนิยมและทฤษฎีจากตะวันตก ซึ่งลัทธิดังกล่าวได้โจมตีพระพุทธศาสนาตลอดมา และมีการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนามากขึ้นโดยเอาวัดไปใช้เป็นสถานที่ราชการอื่นๆ สถานการณ์ของพระพุทธศาสนาจึงยังไม่ดีขึ้น
พระอาจารย์ไท่ฮือ พระภิกษุนักปราชญ์องค์สำคัญมีส่วนที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปพุทธศาสนาให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ก็ได้เกิดขึ้น ได้มีความพยายามในการจัดตั้งองค์การระดับชาติขึ้น โดยให้ความสำคัญแก่การศึกษาและการป้องกันทรัพย์สมบัติของวัดไม่ให้ถูกอายัดจากทางราชการ ในปี พ.ศ.2472 มีการจัดตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศจีนขึ้น มีการฟื้นฟูการศึกษาวรรณกรรมทางพุทธศาสนา คัมภีร์ที่สูญหายไปหรือถูกทอดทิ้งก็ได้รับการนำกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ และมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยพุทธศาสนา ขึ้นหลายแห่งตามเมืองต่าง ๆ มีการตีความพุทธศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พระอาจารย์อิ้นกวง ผู้เชี่ยวชาญในพระสูตรได้ฟื้นฟูนิกายสุขาวดีและความเชื่อในพระพุทธเจ้าอมิตาภะ ท่านปฏิเสธที่จะปรับหลักการของพุทธศาสนาให้เข้ากับเงื่อนไขสมัยใหม่ ท่านเชื่อว่าพุทธศาสนามีสัจจะที่สูงสุดอยู่แล้ว จึงดูจะเป็นการขาดความเคารพถ้าพยายามปรับพุทธศาสนาให้เข้ากับปรัชญาสมัยใหม่และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์
การตื่นตัวทางสติปัญญานี้ฆราวาสได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญ มีการจัดตั้งสมาคมของทางฝ่ายฆราวาสขึ้นกว่า 400 สมาคม โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำพุทธศาสนามาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ศึกษาพระสูตรต่าง ๆ ปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา เข้าเงียบ และบำเพ็ญสาธารณสุขต่าง ๆ นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้ฟื้นฟูคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายต่าง ๆ ขึ้นใหม่ ผู้ริเริ่มความเคลื่อนไหวนี้เป็นฆราวาสคือ อุบาสกโอวหยัง ชิงอู่ ได้เป็นผู้จัดตั้งสถาบันวิชาการเพื่อการศึกษาพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน ขึ้นที่กรุงนานกิง
พระอาจารย์ไท่ฮือ ได้ปฏิรูปพุทธศาสนาใน 3 ทางด้วยกันคือ (1) ปรับปรุงคณะสงฆ์ให้มีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเสียใหม่ (2) จัดสรรทรัพย์สมบัติทางพุทธศาสนาเสียใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากขึ้น (3) ปฏิรูปคำสอนทางพุทธศาสนา งานเขียนของท่านมีอิทธิพลทางด้านสติปัญญาอย่างใหญ่หลวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ท่านเป็นบรรณาธิการ เรื่อง ไฮ่เฉาอิน หรือ “เสียงแห่งกระแสน้ำ” ท่านได้อธิบายหลักพุทธศาสนาให้เข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และแนวความคิดของตะวันตก ท่านได้ประกาศว่า พุทธศาสนาเป็น อเทวนิยม และพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการตรัสรู้ซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติดั้งเดิมของคนทุกคน การตีความเช่นนี้สามารถเข้ากันได้กับปรัชญาแนวเหตุผลนิยมของปรัชญาขงจื้อใหม่และแม้แต่กับลัทธิคอมมิวนิสต์
นิกายสำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าไปเจริญในประเทศจีนแล้ว คณาจารย์จีนได้ย่อธรรมะโดยเอาความรู้สึกนึกคิดอันเป็นพื้นฐานของจีนมาอธิบาย ตั้งเป็นสำนักนิกายต่าง ๆ ขึ้น มีลักษณะผิดไปจากนิกายอินเดีย นิกายที่เกิดขึ้นในเมืองจีนแท้ ๆ คือ นิกายสัทธรรมปุณฑริก (เทียนไท่จง) นิกายเซ็น หรือธฺยาน (เสี่ยมจง) นิกายอวตังสกะ (ฮั่วเงี่ยมจง) และนิกายสุขาวดี (เจ่งโท้วจง) นอกจากนี้ยังมีนิกายที่สำคัญ ๆ อีกหลายนิกาย เมื่อรวมทั้งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้รวมเป็น 10 นิกาย จะได้กล่าวถึงประวัติการก่อตั้งคัมภีร์สำคัญ และหลักธรรม ตามลำดับดังต่อไปนี้
1.นิกายตรีศาสตร์(ซาหลุ่งจง)
2.นิกายธรรมลักษณะ(ฮวบเซี่ยงจง)
3.นิกายสัทธรรมปุณฑริก(เทียนไท่จง)
4.นิกายอวตังสกะ(ฮั่วเงี่ยมจง)
5.นิกายเซ็นหรือธฺยาน(เสี่ยมจง)
6.นิกายวินัย(หลุกจง)
7.นิกายสุขาวดี(เจ่งโท้วจง)
8.นิกายมนตรยาน(มิกจง)
9.นิกายอภิธรรมโกศศาสตร์(กู้เสี่ยจง)
10.นิกายสัตยสิทธิศาสตร์(เส่งซิกจง)
เนื้อหาหลักของเว็บ