泰國華宗史
ประวัติคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย
นับจากราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ชนชาติไทยและจีน ได้มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าจนถึง พุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรสุโขทัยได้ก่อตั้งขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็เพิ่มพูนขึ้น ชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง และฮกเกี้ยน ได้ทยอยมาทำมาหากินในไทย แม้จนกษัตริย์แห่งสุโขทัยได้ไปนำเทคนิคการทำกระเบื้องเคลือบ (สังคโลก) มาสู่ประเทศไทย
ถึงสมัยอยุธยา ชาวจีนในไทยมีมากขึ้น จนเป็นย่านชาวจีนขึ้น และมีชาวจีนเข้ารับราชการในราชสำนักไทย จนอยุธยาเสียแก่ข้าศึก พระยากำแพงเพชร (ตากสิน) ผู้มีบิดาเป็นชาวจีนได้นำทหารไทย-จีน ฝ่าวงล้อมข้าศึกและกอบกูเอกราชไทยได้สำเร็จ โดยตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรี
ในระหว่างสมัยทั้งสามที่ผ่านมา ชาวจีนส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธลัทธิขงจื้อ และลัทธิเต๋า ปะปนกัน คงมีเพียงศาลเจ้าแบบจีน ยังไม่มีการสร้างวัดขึ้น ชาวจีนคงอาศัยทำบุญ ในวัดไทยนั่นเอง
สมัยกรุงธนบุรี ประเทศเวียดนามเกิดกบฏ ชาวเวียดนามอพยพมาไทย จำนวนมาก ชาวจีนและญวน ในครั้งนี้ได้ร่วมกันสร้างวัดให้พระสงฆ์อนัมนิกายจำพรรษาขึ้นหลายแห่ง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สถาปนาเมื่อปี 2325 ในรัชกาลที่1 ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชาเศรษฐี และพวกจีน โดยโปรดฯเกล้าให้ย้ายพวกจีนไปอยู่ที่บริเวณ วัดสัมพันธวงศ์ (ปัจจุบันที่เรียกว่าสำเพ็ง)
สมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งสองประเทศมีการติดต่อกันทางด้านศิลปกรรมเพิ่มขึ้นเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่3 โปรดสร้างพระอาราม และยังโปรดศิลปพระราชนิยมแบบจีน
จวบจนสมัยรัชกาลที่ 5 พระอาจารย์สกเห็ง พระเถระนิกายฌานหรือนิกายเซ็นชาวจีน ได้เดินทางจาริกมาสู่ประเทศไทย และพำนักจำพรรษา ที่ศาลร้างพระกวนอิม ถนนเยาวราช สาธุชนชาวจีน เห็นความเคร่งครัดในศีลาจารวัตร อันงดงามจึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นอารามฝ่ายจีนนิกายขึ้นเป็นแห่งแรกคือวัดบำเพ็ญจีนพรต นอกจากนี้ยังมีพระภิกษุไฮซัน ชาวมณฑล หูหนาน จาริกมาพำนัก ในอารามร้าง ต.บ้านหม้อ ต่อมาได้บูรณะเป็นวัดทิพยวารีวิหาร (กำโล่วยี่)
เมื่อพระสงฆ์ฝ่ายจีนมีมากขึ้น พระอาจารย์สกเห็งเห็นควรขยายอารามให้พอเหมาะแก่จำนวนพระสงฆ์ จึงได้สร้างวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)ขึ้น ปรากฏเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครั้งนั้น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการบริหาร ปกครอง คณะสงฆ์จีนนิกาย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สถาปนา พระอาจารย์สกเห็ง เป็นที่ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ดูแลบริหารปกครองพระสงฆ์จีนนิกายในประเทศไทย ทั้งตำแหน่งปลัดซ้าย ปลัดขวา เพื่อช่วยบริหารปกครอง และมีพัดยศพร้อมสมณบริขาร ประกอบด้วยสมณศักดิ์
ลำดับเจ้าคณะใหญ่ ฝ่ายจีนนิกายจนถึงปัจจุบัน
มีดังนี้
รูปที่ 1 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (สกเห็ง) ปฐมบูรพาจารย์ วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่) , วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) , วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ฉะเชิงเทรา, มีศิษย์รูปสำคัญคือ พระอาจารย์กวยหงอ, พระอาจารย์กวยล้ง
รูปที่ 2 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (กวยหงอ) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสรูปที่ 2มีศิษย์รูปสำคัญ คือ พระอาจารย์ตั๊กฮี้
รูปที่ 3 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (โล่วเข่ง) เจ้าอาวาสวัดมังกรกม
ลาวาส รูปที่3 ต่อมาลาออกและเดินทางกลับประเทศจีน พระภิกษุฟุกยิ้นรักษาการเจ้าอาวาสแทน
ยุคนี้ พระอาจารย์ ตั๊กฮี้ได้สร้างวัดเทพพุทธาราม(เซียนฮุดยี่) จ.ชลบุรี และบรรพชาศิษย์จำนวนมากรูปสำคัญได้แก่ พระอาจารย์เซี่ยงหงี พระอาจารย์ เซี่ยงกี , พระอาจารย์เซี่ยงซิว
รูปที่ 4 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (ย่งปิง) เจ้าอาวาสวัดมังกรกม
ลาวาส รูปที่ 4
รูปที่ 5 พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (เซี่ยงหงี) เจ้าอาวาสวัดมังกรกม
ลาวาส รูปที่ 5 ยุคนี้พระอาจารย์เซี่ยงกี ศิษย์ผู้พี่ได้จาริกไปสร้างวัด เชงจุ้ยยี่ (ถ้ำประทุน) , เชงฮงยี่ เขาพระพุทธบาท สระบุรี ,สำนักสงฆ์มี่กัง กรุงเทพฯ พระอาจารย์เซี่ยงกี บรรพชากุลบุตร สืบสายคณะสงฆ์จีนนิกาย ที่สำคัญ คือ พระอาจารย์ ซุ่นเคี้ยง , พระอาจารย์อิ้วเคียม (ล่งง้วน)
รูปที่ 6 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ฯ (โพธิ์แจ้งมหาเถระ)
บรรพชาในสำนัก พระอาจารย์ อิ้วเคียม ณ วัดเชงจุ้ยยี่ ท่านเป็นผู้พัฒนาคณะสงฆ์ จีนนิกาย สู่ยุคใหม่เป็นปฐมบูรพาจารย์ วัดโพธิ์เย็น กาญจนบุรี , วัดโพธิ์แมนคุณาราม, กรุงเทพฯ, วัดโพธิ์ทัตตาราม ชลบุรีและ สำนักสงฆ์หลับฟ้ากรุงเทพฯ, รวมทั้งวางรากฐาน อุปสมบทกรรม บูรณะปฏิสังขรณ์ พระอารามจีนนิกาย จำนวนมาก ท่านได้วางรากฐาน ความมั่นคงของคณะสงฆ์จีนนิกายจนเป็นปึกแผ่น
รูปที่ 7 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) บรรพชา
อุปสมบทในสำนักพระอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสงฆ์จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณารามและบุกเบิกสร้างวัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม เพื่อวางรากฐานการศึกษาศาสนาแก่คณะสงฆ์ในภาคเหนือของไทย